เมื่อมีพบก็ต้องมีจาก เป็นเรื่องที่แสนธรรมดาในชีวิตที่เราทุกคนต้องประสบพบเจอ ในวัยเด็กการจากลาอาจจะไม่ใช่เรื่องใหญ่ที่นำความโศกเศร้ามากระทบจิตใจ เมื่อเติบโตขึ้นความรู้สึก ความผูกพันกับใครสักคนก็อาจทำให้เราไม่อยากเสียคนเหล่านั้น และอยากให้เป็นอมตะตลอดไป แต่เมื่อมันเป็นสัจธรรมของชีวิต เราก็ต้องพร้อมยอมรับ และควรศึกษาขั้นตอนการจัดงานศพไว้ เมื่อถึงเวลาที่คนใกล้ตัวได้ลาจากโลกนี้ไป คุณจะได้ไม่ต้องกังวล และสามารถดำเนินการได้อย่างถูกต้องราบรื่น วันนี้ Le Wreath ร้านพวงหรีดออนไลน์ ก็มีขั้นตอนการจัดงานศพมาฝาก สำหรับคนที่เป็นมือใหม่ยังไม่เคยผ่านการจัดงานศพ ห้ามพลาดบทความนี้เลยนะคะ
1. ดำเนินการแจ้งตายและขอใบมรณะบัตร
เมื่อมีผู้สิ้นลมหายใจ อันดับแรกที่ผู้เป็นญาติต้องทำ คือ การแจ้งตาย โดยแบ่งออกเป็น 2 กรณี คือ เสียชีวิตที่โรงพยาบาล และ เสียชีวิตที่บ้าน ซึ่งทั้ง 2 กรณี วิธีการจะแตกต่างกันเล็กน้อย โดย
● เมื่อเสียชีวิตที่โรงพยาบาล : ทางโรงพยาบาลจะทำการออกหนังสือรับรองการเสียชีวิต เพื่อให้เราได้นำไปรวมกับเอกสารอื่น ๆ ของผู้ตาย เช่น บัตรประจำตัวประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน เพื่อนำไปยื่นให้กับสำนักทะเบียนท้องถิ่นหรือที่ทำการเขต ให้ทำการออกใบมรณะบัตร ภายใน 24 ชั่วโมงหลังจากเสียชีวิต
● เมื่อเสียชีวิตที่บ้าน : ผู้เป็นญาติต้องเดินทางไปแจ้งการตายที่สถานีตำรวจ เพื่อให้ออกหนังสือรับรองการเสียชีวิต หลังจากนั้นนำไปยื่นเพื่อขอใบมรณะบัตรต่อที่สำนักทะเบียนท้องถิ่นหรือที่ทำการเขต
2. ทำการติดต่อวัด เพื่อนำศพมาบำเพ็ญกุศลตามความเชื่อทางศาสนา
เมื่อได้ใบมรณะบัตรเรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อมา คือ การติดต่อวัดที่ต้องการนำร่างผู้เสียชีวิตไปตั้งบำเพ็ญกุศลศพ และเมื่อได้วัดที่ต้องการแล้ว ก็ถึงเวลาที่ต้องนำขนร่างมาที่วัด โดยอาจจะติดต่อวัด หรือโรงพยาบาลให้จัดหารถให้
สิ่งสำคัญในการเคลื่อนขบวนศพนั้นควรมีญาติหรือลูกหลานของผู้เสียชีวิต ถือกระถางธูป และรูปของผู้ตายนำหน้า ส่วนด้านหลังก็ควรนิมนต์พระสงฆ์อย่างน้อย 1 รูป ถือสายสิญจน์ที่โยงออกมาหน้าโลง เพื่อชักศพและนำทางดวงวิญญาณมาที่วัด
3. พิธีรดน้ำศพ และจัดร่างที่ไร้วิญญาณใส่โลงศพ
เมื่อเคลื่อนร่างที่ไร้วิญญาณมาถึงวัดแล้ว ขั้นตอนต่อมา คือ การรดน้ำศพ โดยควรจะตั้งเตียงรดน้ำศพไว้ทางด้านซ้ายมือของโต๊ะหมู่บูชาพระรัตนตรัย และจัดให้โต๊ะหมู่บูชาอยู่ด้านบนของศีรษะผู้เสียชีวิต
จัดร่างที่ไร้วิญญาณให้นอนหงาย โดยนำผ้าห่มหรือผ้าแพรคลุมไปทั่วร่างยกเว้นบริเวณใบหน้าและมือขวา เพื่อรับการรดน้ำศพจากญาติ ๆ และผู้ที่มาร่วมแสดงความอาลัย โดยเราในฐานะที่เป็นเจ้าภาพ ต้องจัดเตรียมอุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น น้ำอบ น้ำหอม ขันขนาดเล็กสำหรับตักไปรดน้ำศพ และขันขนาดใหญ่เพื่อรองรับน้ำที่รดมือศพ
โดยความเชื่อที่มีมานาน เจ้าภาพควรจุดเครื่องสักการบูชาพระรัตนตรัยก่อน แล้วจึงรดน้ำศพได้ และเวลาที่เหมาะสมสำหรับพิธีนี้คือช่วง 16.00 – 17.00 น. หลังจากนั้นก็สามารถจัดร่างใส่โลงศพพร้อมทำพิธีต่อไปได้เลย โดยส่วนมากจะเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของวัด
4. พิธีสวดอภิธรรมศพ
ขั้นตอนนี้เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า สวดหน้าศพ เจ้าภาพสามารถตกลงกับทางวัดได้เลยว่าต้องการที่จะสวดอภิธรรมศพกี่วัน ซึ่งการสวดที่ว่านี้จัดขึ้นเพื่อเป็นการอุทิศส่วนกุศลแก่ผู้ล่วงลับ โดยส่วนใหญ่เจ้าภาพมักนิยมสวดกัน 1 คืน, 3 คืน, 5 คืน, 7 คืน เป็นต้น
5. พิธีฌาปนกิจศพ
เมื่อสวดอภิธรรมศพครบจำนวนวันที่กำหนดกับทางวัดแล้วก็ถึงเวลาที่จะต้องฌาปนกิจศพ หรือ เผาศพนั่นเอง แต่การที่จะเคลื่อนย้ายศพออกจากศาลาวัด จะต้องทำการแห่ศพเวียนรอบเมรุที่จะเผาก่อน โดยเริ่มจากบันไดทางขึ้นเมรุไปทางขวาทั้งหมด 3 รอบ โดยขบวนแห่ควรจะเรียงลำดับตามนี้ คือ พระ -> กระถางธูป -> รูปภาพ -> ศพ -> ญาติ
เมื่อแห่ครบ 3 รอบแล้ว เจ้าหน้าที่ก็จะนำโลงที่บรรจุศพตั้งไว้หน้าเมรุเพื่อให้ญาติ ๆ และผู้ที่มาร่วมงานได้กล่าวอำลาแสดงความอาลัยเป็นครั้งสุดท้าย ก่อนที่ร่างนั้นจะกลายเป็นเพียงผงธุลี โดยเจ้าภาพอาจจะต้องเตรียม เครื่องไทยธรรม เครื่องไทยธรรมผ้าไตร ผ้าสบงถวายพระสวดมาติกาบังสุกุล และดอกไม้จันทน์ เมื่อทำการอำลาโดยวางดอกไม้จันทน์กันครบทุกคนแล้วจึงเข้าสู่ขั้นตอนการเผา
6. เก็บอัฐิ
การเก็บอัฐินั้นจะมีอยู่ด้วยกัน 2 แบบ คือ เก็บในวันเผา หรือ เก็บในวันรุ่งขึ้น ซึ่งขั้นตอนนี้เจ้าภาพจำเป็นต้องแจ้งเจ้าหน้าที่วัดให้ทราบไว้เช่นกัน และต้องจัดเตรียมโกศบรรจุอัฐิ น้ำอบ ดอกไม้ และอาหารคาวหวานเพื่อถวายพระสงฆ์ที่มาบังสุกุลให้ โดยการเก็บอัฐิใส่โกศนั้นนิยมเก็บทั้งหมด 6 ชิ้น ได้แก่ กะโหลก 1 ชิ้น แขน 2 ชิ้น ขา 2 ชิ้น ซี่โครงหน้าอก 1 ชิ้น ส่วนอัฐิที่เหลือ นิยมกวาดรวมกันและบรรจุใส่หีบไม้และนำผ้าขาวห่อเก็บไว้ เพื่อนำไปเก็บไว้หรือนำไปลอยแม่น้ำต่อไป
7. ลอยอังคาร
เมื่อเก็บอัฐิแล้ว เจ้าภาพส่วนใหญ่นิยมนำเศษอัฐิไปลอยในแม่น้ำตามความเชื่อที่ว่า เมื่อนำอัฐิไปลอยน้ำ จะทำให้ผู้ล่วงลับสงบสุข มีชีวิตในอีกภพภูมิที่ร่มเย็นดั่งสายน้ำ และอีกหนึ่งความเชื่อที่ว่าร่างกายคนเราเกิดจากธาตุทั้ง 4 คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ ซึ่งเมื่อสลายแล้วก็ควรให้กลับไปอยู่ในที่เดิมที่เคยจากมา
สำหรับผู้ที่เป็นมือใหม่ และยังไม่เคยเป็นเจ้าภาพจัดงานศพมาก่อน อ่านมาจนถึงตรงนี้เชื่อว่าพอรู้หลักแล้วใช่ไหมคะว่าขั้นตอนการจัดงานศพถึงจะดูยุ่งยากสักหน่อย แต่เพื่อคนที่เรารักและเคารพนับถือต้องทำให้ดีที่สุด เพราะเป็นสิ่งที่เราจะทำให้บุคคลนั้นเป็นครั้งสุดท้ายในชีวิตนี้แล้ว และถ้าหากใครที่ต้องการพวงหรีดแสดงความอาลัย อย่าลืมนึกถึงร้าน LeWreath ที่พร้อมบริการจัดส่งพวงหรีดฟรีถึงหน้าศาลาวัดทั่วกรุงเทพมหานครนะคะ
ขอบคุณข้อมูลจาก
www.suriyafuneral.com/พระพุทธศาสนากับพิธีกร