lifestyle.campus-star.com
พระราชพิธีพระบรมศพของพระมหากษัตริย์ แน่นอนว่าเป็นพิธีที่สำคัญและค่อนข้างมีความซับซ้อน แต่สำหรับในอดีตมีความซับซ้อนยิ่งกว่า แต่เมื่อเวลาผ่านไป ธรรมเนียมใหม่ ๆ จากตะวันตกก็เริ่มเข้ามา พระมหากษัตริย์หลายพระองค์ได้ทรงเปลี่ยนแปลงและยกเลิกหลายธรรมเนียมในพระราชพิธีพระบรมศพ ซึ่งธรรมเนียมดั้งเดิมที่พอสืบค้นพอสรุปได้ดังนี้
1. โกนผม
lifestyle.campus-star.com
ธรรมเนียมนี้เกิดขึ้นในยุคสมัยอยุธยา เชื่อกันว่าสืบทอดมาจากธรรมเนียมประเพณีของอินเดีย ที่มักจะโกนหัวเมื่อญาติผู้ใหญ่หรือมูลนายเสียชีวิต แต่เมื่อพระมหากษัตริย์สวรรคต ประชาชนจึงต้องโกนผมเพื่อไว้ทุกข์ แต่ได้ถูกยกเลิกไปในสมัยรัชกาลที่ 6 ตามประกาศของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช (พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว) ความว่า
“มีรับสั่งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ซึ่งได้สำเร็จราชการแผ่นดิน ให้ประกาศจงทราบทั่วกันว่า สมเด็จพระบรมชนกนารถ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระประชวรพระโรคพระธาตุพิการมาแต่ ณ วันที่ ๑๖ ตุลาคม พระโรคกลายไปในทางพระวักกะพิการ แพทย์ได้ประกอบพระโอสถถวาย พระอาการหาคลายไม่ ถึง ณ วันเสาร์ ที่ ๒๒ ตุลาคม เสด็จสวรรคต เวลา ๒ ยาม กับ ๔๕ นาที จะได้เชิญพระบรมศพสู่พระโกษฐ์แห่จากพระราชวังดุสิต ไปประดิษฐานไว้ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง ในวันที่ ๒๓ ตุลาคม
ความเศร้าโศรกสาหัสอันบังเกิดขึ้นในพระบรมราชวงษ์ครั้งนี้ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ทรงแน่ในพระหฤทัยว่า จะเปนความเศร้าโศรกแก่ประชาชนทั้งหลายทั่วไปในพระราชอาณาจักร เพราะเหตุที่สมเด็จพระบรมชนกาธิราชได้ทรงพระกรุณาทนุบำรุงมาทั่วกัน
อนึ่งตามโบราณราชประเพณี ในเวลาเมื่อพระเจ้าแผ่นดินเสด็จสวรรคต พระบรมวงษานุวงษ์แลข้าราชการ ราษฎรทั้งหลายต้องโกนผมแทนการไว้ทุกข์ทั่วทั้งพระราชอาณาจักร แต่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกนารถ ได้ทรงมีพระราชดำรัสสั่งไว้ว่า การไว้ทุกข์ดังเช่นที่กล่าวมาแล้วนั้น ย่อมเปนเครื่องเดือดร้อนอยู่เป็นอันมากให้ยกเลิกเสียทีเดียว
ประกาศมา ณ วันที่ ๒๓ ตุลาคม รัตนโกสินทรศก ๑๒๙”